Friday, April 03, 2009

ปังปอนด์ กับ พี่สวย

เมื่อ 29 มีนาคม ได้ข่าวว่า ปังปอนด์ สอบติดสวนกุหลาบ และสวยสอบติดพิษณุโลกพิทยาคม อาจันทร์ก็ดีใจมาก นึกๆ ก็แปลกตอนอาเล็กน้องชายสอบติดสวนกุหลาบ ไม่เห็นอาจันทร์ดีใจเท่ากับปังปอนด์สอบติดสวนกุหลาบ คงเป็นเพราะความรู้สึกของวัยเด็ก กับวัยผู้ใหญ่ การมองโลกที่แตกต่างกันของอาจันทร์ (คนคนเดียวกัน แต่เวลาต่างกัน คนคนนั้นก็ไม่เหมือนกัน คนคนนั้นก็ไม่เหมือนเดิม) ส่วนสวยสอบติดพิษณุโลกพิทยาคม อาจันทร์ก็ดีใจมาก ถ้าให้บอกตรงๆ อาจันทร์ดีใจมากที่สุด สำหรับเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับสวย ลูกสาวเล็กอาจันทร์ ทั้งสองโรงเรียนเป็นโรงเรียนเก่าแก่และมีชื่อเสียงของเมืองไทย ลองมาอ่านประวัติของโรงเรียนทั้งสอง

1. ประวัติโรงเรียนสวนกุหลาบยาวสักหน่อย เรียกได้ว่าประวัติศาสคร์ อ่านได้จากลิงค์ของโรงเรียน
http://www.sk.ac.th/index.php?option=com_content&task=view&id=19&Itemid=259

ย้อนหลังไปประมาณเกือบ 200 ปี ก่อนนั้นเมื่อแรกสร้างพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณวังข้างด้านใต้หมด เพียงป้อมอนันตคิรีถนนมหาชัย กำแพงพระราชวังหักตรงไปทางตะวันตกจนถึงป้อมสัตบรรพต ในระหว่าง กำแพงพระบรมมหาราชวังกับวัดพระเชตุพน มีบ้านเสนาบดีและวังเจ้าคั่นอยู่หลายบริเวณ

ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 2 จึงมีการขยายเขตพระราชวังออกไป ในพระราชวังด้านใต้มีที่ว่าง โปรดฯให้ทำสวนปลูกต้นกุหลาบสำหรับเก็บดอกใช้ในราชการ จึงเกิดมีสวนกุหลาบขึ้นในพระราชวังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมาและในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯให้แบ่งสวนกุหลาบส่วนหนึ่งสร้างคลังศุภรัตน ทำเป็นตึกรูปเก๋งจีน แต่พื้นที่นอกจากสร้างคลังศุภรัตนยังคงเป็นสวนกุหลาบต่อมาอย่างเดิม

ต่อมาในรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาถึงเวลาจะเสด็จมาประทับอยู่พระราชวังชั้นนอก แต่พระบรมพระชนกนาถมีพระประสงค์ที่จะให้เสด็จประทับอยู่ในที่ใกล้พระองค์ จึงโปรดฯให้จัด ตำหนักพระราชทานเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ในสวนกุหลาบ ตรงตึกคลังศุภรัตน ซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้เรียกพระตำหนักนี้ว่าพระตำหนักสวนกุหลาบและหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็โปรดฯให้กรมหลวงอดิศรอุดมเดชเสด็จไปประทับอยู่ที่พระ ตำหนักสวนกุหลาบแทนจนออกจากวัง และจากนั้นมาก็ใช้เป็นคลังเก็บของเรื่อยไป.....

2. ประวัติโรงเรียนพิษณุโลกวิทยาคมก็ยาว อ่านเต็มๆได้จากลิงค์ของโรงเรียน
http://www.pp.ac.th/cgi-bin/history.cgi

ประวัติโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมในปี พ.ศ. 2438 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมืองพิษณุโลกได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มณฑลพิษณุโลก มีท่านเจ้าพระยาสุรสีห์สิทธิศักดิ์ เป็นสมุหเทศาภิบาลคนแรก ได้อาราธนา พระครูอ่อน จากสำนักวัดอนงคาราม จังหวัดธนบุรี(เดิม) มาว่าการพระศาสนาประจำอยู่ ณ วัดนางพญา ท่านพระครูอ่อน มีความสนใจในการศึกษามากจึงได้เริ่มก่อตั้งสำนักศึกษาขึ้นที่ วัดนางพญา ศาลาโรงโขน วัดพระศรีรัตนมหาธาตุบริเวณเชิงสะพานนเรศวรด้านตะวันออกต่อมาพระครูอ่อนได้เลื่อน สมณศักดิ์เป็นพระครูโลกเชษฐ์ชินราชบริบาล ในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงได้ทรงจัดตั้ง โรงเรียนขึ้นทั่วพระราชอาณาจักร ทางราชการเห็นว่าสำนักศึกษา ของพระครูโลกเชษฐ์ชินราชบริบาล มีความเป็นปึกแผ่นดี จึงได้ยกฐานะสำนักศึกษาแห่งนี้ เป็นโรงเรียน มีชื่อว่า “โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลพิษณุโลก”และสร้างตัวโรงเรียนขึ้นใหม่ บริเวณทางใต้ของศาลาโรงโขนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เขตติดต่อวัดนางพญา (มีพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา) โดยมีพระครูโลกเชษฐ์ชินราชบริบาลเป็น “ครูใหญ่คนแรก” จึงนับได้ว่าโรงเรียนมีกำเนิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2442

ระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 ทางราชการยกเลิก “มณฑล” เป็นเปลี่ยน
“จังหวัด” ชื่อโรงเรียนจึงเปลี่ยนเป็น “โรงเรียนประจำจังหวัดพิษณุโลก” ต่อมากระทรวงศึกษาธิการตั้งชื่อเฉพาะขึ้นใหม่เป็น “โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม” มาจนกระทั่งปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2473-2474 ทางราชการได้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน บริเวณใต้ วัดพระศรีรีตนมหาธาตุ มีชื่อว่า “สะพานนเรศวร” อยู่ตรงหน้าโรงเรียนพอดี โรงเรียนจึงต้องย้าย ครั้งที่ 1 ไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นวัดที่ร้าง “วัดราชคฤห์” ปัจจุบันเป็นบริเวณโรงเรียนจ่าการบุญ และยังต้องยืมศาลาโรงโขนเรียนด้วยเป็นเวลากว่า 33 ปี

ประมาณกลางปี 2475 ทางราชการได้สั่งย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูมูล “พิษณุวิทยายน” ไปอยู่บริเวณ “สระแก้ว” (บริเวณโรงพยาบาลพุทธชินราช) จึงยกอาคารสถานที่ในบริเวณ วังจันทน์ให้เป็นสมบัติของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมทั้งหมด โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมจึงย้ายครั้งที่ 2 มาตั้งอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบันมานานถึง 67 ปี ดังนั้นในปี พ.ศ. 2542 โรงเรียนก่อตั้งมามี ”อายุครบ 100 ปี” พอดี

No comments: